วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

โรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ



พฤติกรรมสุขภาพกับการเกิดโรค
              เพื่อมีความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ และการเกิดโรค นักเรียนควรศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องต่อไปนี้
           ความหมายของโรคและพฤติกรรมสุขภาพ              โรค หมายถึง ความไม่สบายหรือการเกิดภาวะปกติขึ้นในร่างกาย โดยแสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการเจ็บป่วยออกมาให้เห็น เช่น เป็นไข้ อ่อนเพลีย อาเจียน อุจจาระร่วง ปวดศีรษะ ซึ่งอาการที่ปรากฏนั้นอาจจะเป็นอยู่ระยะหนึ่งแล้วหาย หรือกลับมาเป็นซ้ำอีกก็ได้ หรืออาจแสดงอาการอยู่ตลอดไป จนอาจส่งผลทำให้อวัยวะของร่างกายเกิดความพิการ ทุพพลภาพ หรืออาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
              พฤติกรรมสุขภาพ หมายถึง การกระทำหรือการปฏิบัติของบุคคลที่มีผลต่อสุขภาพของตนเอง ครอบครัว หรือชุมชน โดยแสดงออกให้เห็นใน 2 ลักษณะ จากการปฏิบัติให้เกิดผลดีหรือที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็นการปฏิบัติทีส่งผลดีต่อสุขภาพและถือว่าเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ส่วนพฤติกรรมการเสพสารเสพติด การสูบบุหรี่ การขับรถโดยประมาท เป็นการปฏิบัติที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและเป็นโรค ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี
            ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมสุขภาพดับการเกิดโรค              การเกิดโรคภัยไข้เจ็บของมนุษย์เกิดได้หลากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อไวรัส เอชไอวี (HIV: Kuman Immunodeficiency Virus)ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ เชื่อบัคเตรี วิบริโอ คอเลอรา (vibrio cholera) เป็นสาเหตุให้เกิดโรคอหิว่าตกโรค หรือเชื้อบัคเตรี ไมโครแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (mycobacterium tuberculosis) เป็นสาเหตุของการเกิดโรควัณโรค รวมทั้งเชื้อราหรือปรสิตชนิดอื่นๆ ทั้งหมดทีส่งผลต่อการเจ็บป่วยและการเกิดโรคของมนุษย์
              นอกจากการเจ็บป่วยหรือเกิดโรคเพราะตัวเชื้อโรคแล้ว มนุษย์ยังเจ็บป่วยหรือเกิดโรคได้เพราะพฤติกรรมการดำรงชีวิตของตนเอง ทั้งในเรื่องของการทำงาน การบริโภค การพักผ่อน การมีเพศสัมพันธ์ การดูแลรักษาความสะอาดร่างกาย การเดินทาง หรือการติดต่อกับสังคม ซึ่งล้วนแต่มีความสัมพันธ์ต่อสุขภาพโดยตรง หรืออาจจะกล่าวได้ว่าพฤติกรรมสุขภาพเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของการเกิดโรคและการเจ็บป่วยของบุคคล อีกทั้งสามารถใช้ทำนายแนวโน้มของความเสียงต่อการเกิดโรคและการเจ็บป่วยของบุคคลล่วงหน้าได้ เช่น บุคคลที่มีพฤติกรรมการดื่มสุราเป็นประจำมักมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคตับแข็ง โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือถ้าขับรถก็อาจจะได้รับอุบัติเหตุได้ และผู้ที่นิยมบริโภคอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาจป่วยเป็นโรคพยาธิ หรือการมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศอาจได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น และในทางกลับกันบุคคลที่มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจเป็นผลเสียต่อสุขภาพ ย่อมมีสุขภาพอนามัยที่ดีไม่เจ็บป่วยง่าย ลดปัญหาการเกิดโรคอันเนื่องมาจากการมีพฤติกรรมสุขภาพไม่ดีของตนเองให้ลดน้อยลง อีกทั้งการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อโรคได้อีกทางหนึ่งด้วย


โรคและการเจ็บป่วยที่แบ่งตามลักษณะของพฤติกรรมสุขภาพ               พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมของบุคคล ส่งผลทำให้เกิดโรคและการเจ็บป่วยต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสามารถแบ่งชนิดของโรคและการเจ็บป่วยตามลักษณะของพฤติกรรมสุขภาพที่สำคัญ ดังนี้
              1. โรคและการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขวิทยาส่วนบุคคลพฤติกรรมสุขวิทยาบุคคล หมายถึง การปฏิบัติหรือการแสดงออกของบุคคลที่ส่งผลให้มีสุขภาพดี เช่น การดูแลรักษาร่างกาย และของใช้ให้สะอาด การดูแลรักษาฟันให้สะอาดและแข็งแรง การล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย ถ้าบุคคลขาดการดูแลเรื่องสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ถูกต้องก็จะทำให้เกิดโรค และความเจ็บป่วยต่าง ๆ ขึ้นเป็นต้นว่า โรคผิวหนัง มักมีสาเหตุมาจากการไม่รักษาความสะอาดร่างกาย โรคเหงือกและฟันเนื่องจากขาดพฤติกรรมการรักษาฟันให้สะอาดและแข็งแรง โรคติดเชื้อของทางเดินอาหาร มักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการหยิบจับอาหารรับประทานโดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาด เป็นต้น
              2. โรคและการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการบริโภคและการโภชนาการพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการโภชนาการ ประกอบด้วย การเลือกบริโภคอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัยจากสารอันตราย ได้รับสารอาหารครบถ้วน 5หมู่ อย่างหลากหลาย และมีความพอดีกับความต้องากรของร่างกาย รวมถึงการมีสุขนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารตรงเวลา หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารหมักดอง เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคอาหารของบุคคลดังกล่าวนั้น มีผลต่อสุขภาพและการเกิดโรค หรือความเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น การรับประทานอาหารในปริมาณที่น้อยเกิดไป หรือขาดสารอาหารที่จำเป็นแก่ร่างกายบางชนิด อาจทำให้เกิดโรคขาดสารอาหาร โรคคอพอก เนื่องจากขาดแร่ธาตุไอโอดีน หรือ โรคปากนกกระจอก เนื่องจากขาดวิตามินบี 2 ได้ นอกจากนี้พฤติกรรมที่ไม่ดีในการรับประทานอาหารอื่น ๆ เช่น การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือรับประทานอาหารที่มีรสจัดเป็นประจำ ก็อาจทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารและโรคลำไส้ หรือการเคี้ยวอาหารมาละเอียดส่งผลให้อาหารไม่ย่อย เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้
              3.โรคและการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมด้านสารเสพติด เพศสัมพันธ์ และปัญหาทางสังคม              พฤติกรรมด้านสารเสพติด เพศสัมพันธ์ และปัญหาทางสังคม คือ การกระทำที่แสดงออกในเรื่องของการงดดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ไม่เสพสารเสพติด หลีกเลี่ยงการพนัน และอบายมุขต่าง ๆ รวมทั้งการมาสำส่อนทางเพศ และการมีค่านิยมรักเดียวใจเดียว ซึ่งหากมีพฤติกรรมสุขภาพในเรื่องดังกล่าวที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลต่อการเกิดโรคและความเจ็บป่วย ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมโดยตรง เช่น บุคคลที่มีพฤติกรรมเสพสารเสพติดย่อมเจ็บป่วยง่าย ร่างกายทรุดโทรม เกิดความเครียดในครอบครัว หรืออาจสร้างปัญหาความรุนแรงในสังคม และถ้าบุคคลมีพฤติกรรมไม่ปลอดภัยทางเพศ อาจติดโรคทางเพศต่าง ๆ ได้โดยเฉพาะโรคเอดส์ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนในโลกเป็นจำนวนมาก
              4. โรคและการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมด้านสุขภาพจิต              พฤติกรรมด้านสุขภาพจิต คือ พฤติกรรมการสร้างอารมณ์และจิตใจให้ร่าเริง แจ่มใสอยู่เสมอ และพฤติกรรมการสร้างสัมพันธภาพให้เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งหากบุคคลและครอบครัวขาดพฤติกรรมสุขภาพที่ดีในเรื่องการจัดการกับอารมณ์และความเครียดที่เหมาะสมแล้ว ก็จะทำให้เกิดโรคและความเจ็บป่วยทางจิตใจอันเนื่องมาจากความเครียดได้ เช่น การเกิดโรคซึมเศร้า โรคจิต โรคประสาท มีอาการวิตกกังวล ซึ่งบั่นทอนสุขภาพร่างกายให้เจ็บป่วยโดยง่าย
              5. โรคและการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมด้านความปลอดภัย              พฤติกรรมด้านความปลอดภัย ประกอบด้วย การมีพฤติกรรมป้องกันอุบัติเหตุ อุบัติภัย ทั้งภายในบ้านในสถานที่ทำงาน ในโรงเรียน ในชุมชน หรือบนท้องถนน ถ้าบุคคลขาดพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยต่าง ๆ แล้ว ก็อาจให้ถูกไฟฟ้าดูดหรือเกิดอัคคีภัย หรือการขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ส่งผงให้ร่างกายบาดเจ็บหรือทุพพลภาพ
              6. โรคและการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการออกกำลังกายและการตรวจสุขภาพประจำปี               พฤติกรรมการออกกำลังกายและการตรวจสุขภาพประจำปี คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหาความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและปัญหาสุขภาพดังนั้น ถ้าบุคคลมีพฤติกรรมขาดการออกกำลังกายก็จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคความดันเลือดสูง โรคกระดูกพรุน หรือรวมทั้งโรคมะเร็ง และถ้ามีพฤติกรรมละเลยการตรวจสุขภาพประจำปีอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรค ซึ่งยากต่อการรักษาให้หายเป็นปกติได้อย่างทันท่วงที
              7. โรคและการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อม              พฤติกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อม ในที่นี้จะหมายถึง การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมในครอบครัวและชุมชน ได้แก่ การจัดการเรื่องขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล การควบคุมแมลงและสัตว์นำโรค การจัดบ้านเรือนและสถานที่ต่าง ๆ ให้มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ร่มรื่นน่าอยู่อาศัย มีความปลอดภัย ถ้าบุคคลขาดการดูแลสิ่งแวดล้อมที่บ้าน และสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเองให้ถูกสุขลักษณะแล้ว ย่อมทำให้เจ็บป่วยและเป็นโรคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะโรคติดต่อที่เกิดจากการมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เช่น โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง โรคเลปโตสไปโรซีส (โรคฉี่หนู) เป็นต้น



 การป้องกันโรคและอันตรายที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ               การมีสุขภาพอนามัยที่ดี ไม่เจ็บป่วยหรือเกิดโรคอันเนื่องมาจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม นักเรียนสามารถป้องกันโรคและอันตรายที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพโดยยึดหลักการดูแลสุขภาพตามสุขบัญญัติ แห่งชาติ 10 ประการ หรือหลักการสร้างเสริมสุขภาพด้วยหลักการ 6 อ. ซึ่งนักเรียนเคยศึกษาผ่านมาก็ได้ หรืออาจนำวิธีการต่อไปนี้ไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพดังนี้
              1. รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอยู่เสมอ ได้แก่ ทำความสะอาดร่างกายและของใช้ให้สะอาดดูแลรักษาฟันและเหงือกให้สะอาด แข็งแรง มีสุขภาพดี รวมถึงล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่ายทุกครั้ง ถ่ายอุจจาระเป็นเวลาทุกวัน และใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่อับชื้น และให้ความอบอุ่นเพียงพอ
              2. บริโภคอาหารสุก สะอาด ปลอดภัย และครบถ้วน 5 หมู่ อย่างหลากหลาย และเพียงพอกับความต้องการของร่างกายตามวัย นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีสารอันตรายเจือปน เช่น ไส้กรอกหรือกุนเชียงใส่สี ถั่วงอกหรือขิงซอยที่มีสีขาวผิดธรรมชาติ ซึ่งอาจมีสารฟอกขาวที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเจือปนอยู่
              3. ออกกำลังกายด้วยวิธีการที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที เพื่อสร้างความแข็งแรงและภูมิต้านทานโรคแก่ร่างกาย เช่น การว่ายน้ำ การเต้นแอโรบิก การวิ่งเหยาะ หรือการเล่นกีฬาที่ถนัดและมีความสนใจ
              4. ควบคุมหรือจัดการอารมณ์และความเครียดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น มองโลกในแง่ดี ทำงานอดิเรกที่ถนัดและมีความสนใจ หัวเราะและยิ้มแย้มอยู่เสมอ และไม่ควรยึดติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากจนเกิดไป
              5.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การเสพสารเสพติด การสำส่อนทางเพศ และอบายมุขต่าง ๆ ที่ทำลายสุขภาพ หรือส่งผลทำให้เกิดโรคและการเจ็บป่วย
              6. ดูแลจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและในชุมชนให้ถูกสุขลักษณะ มีความปลอดภัย ไม่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์นำโรค หรือเป็นแหล่งเพราะเชื้อโรค ที่นำโรคและความเจ็บป่วยมาสู่คน
              7. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อลดความเสี่ยง หรือลดความรุนแรงของโรคที่อาจเกิดขึ้น และช่วยให้มีการดูแลรักษาโรคได้อย่างน้อยทันท่วงที